เว็บไซต์ นสพ. South China Morning Post ของฮ่องกง เสนอรายงานพิเศษ “Thailand’s ‘little ghosts’ in South Korea use Facebook to find jobs and work there illegally” ซึ่งบอกเล่าถึงความพยายามของคนไทยในการหาทางไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ ทั้งการไปอย่างถูกกฎหมาย อาทิ สุรีรัตน์ โนนภาพ (Sureerat Noenpap) หญิงวัย 37 ปี ด้วยความที่ลูกสาว 2 คนกำลังจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย แต่ลำพังรายได้เดือนละ 1 หมื่นบาทจากอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้นไม่เพียงพอ ทำให้เธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจัดส่งแรงงานไทยไปเกาหลีใต้
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเกาหลีใต้ ผู้เข้าร่วมจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ภาษาเกาหลี สุรีรัตน์ เจียดเงิน 15,000 บาท สมัครเรียนภาษาเกาหลีในสถาบันเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งอนุญาตให้เรียนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งจนกว่าจะใช้งานได้ เธอกล่าวว่าต้องการไปเป็นแรงงานภาคเกษตรในเกาหลีใต้ เพราะได้ยินมาว่าภาคอุตสาหกรรมที่นั่นไม่ค่อยอยากรับคนงานหญิงเท่าใดนัก แม้แรงงานภาคเกษตรจะได้ค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานภาคอุตสาหกรรมก็ตาม
แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีคนไทยอีกไม่น้อยที่ใช้วิธีแสร้งเดินทางไปท่องเที่ยวก่อนจะลักลอบหนีเข้าไปทำงาน สุรีรัตน์ ระบุว่าที่เลือกทางเดินซึ่งถูกกฎหมายเพราะต้องการได้รับการรับรองสิทธิด้านต่างๆ ในเกาหลีใต้ เช่น ค่าจ้างที่เป็นธรรม การทำประกันภัยและการใช้ชีวิต นอกจากนี้เธอยอมรับว่ามีญาติที่ไปทำงานที่นั่นอย่างผิดกฎหมายและชักชวนเธอไปด้วย แต่เธอก็ปฏิเสธ ถึงกระนั้นญาติของเธอก็ส่งเงินกลับมายังประเทศไทยเป็นประจำ
รายงานของสื่อฮ่องกง กล่าวต่อไปว่า คนไทยที่เดินทางไปยังเกาหลีใต้เพื่อลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย ถูกเรียกว่า “ผีน้อย (Little Ghost)” ซึ่งคาดว่าน่าจะเปรียบเปรยถึงการหายตัวไปหลังจากครบกำหนด 90 วันของวีซ่าท่องเที่ยว กระทรวงแรงงานของไทยเคยแถลงข่าวเมื่อเดือน เม.ย. 2562 ว่าในจำนวนคนไทย 165,000 คนในเกาหลีใต้ พบว่า 143,000 คนเป็นแรงงานผิดกฎหมาย
สำหรับการเดินทางไปทำงานแบบผีน้อยนั้น สื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค (Facebook) ถูกใช้เป็นช่องทางชักชวนอย่างกว้างขวาง หากใครคนหนึ่งค้นหาคำว่า “ทำงานในเกาหลี (Work in Korea)” ก็จะพบประกาศชักชวนนับร้อยรายการ มีการแนะนำให้โอนเงิน 35,000 บาท ในเวลา 7-10 วันก่อนการเดินทาง สำหรับการรับรองว่าจะได้งานทำรวมถึงได้รับการฝึกอบรมการตอบคำถามเพื่อให้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง พร้อมกับยกตัวอย่างงานดีรายได้งาม อาทิ ฟาร์มเห็ด ฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานพลาสติก ค่าจ้าง 1.2-1.6 ล้านวอน หรือ 1,200-1,380 เหรียญสหรัฐต่อเดือน
พิสุทธิ์ สมบูรณ์ (Pisut Somboon) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Koreajob.in.th ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานและการใช้ชีวิตในเกาหลีใต้ กล่าวว่า หลายคนไม่รู้วิธีการไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมาย ไม่รู้ว่าการจ่ายเงินให้นายหน้าที่ไม่ได้ลงทะเบียนถือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการค้ามนุษย์ แต่บางคนแม้รู้ก็ยังจะเลือกวิธีที่ผิดกฎหมาย เพราะพวกเขาอายุเกินกว่าจะเข้าร่วมโครงการจัดส่งแรงงานอย่างถูกต้องโดยรัฐบาล หรือไม่ผ่านการทดสอบครั้งนี้แต่ไม่สามารถรอการทดสอบครั้งหน้าได้เพราะมีหนี้สินต้องรีบจ่าย
ในขณะที่ทางการไทยพยายามเจรจากับทางการเกาหลีใต้ขอให้ปรับปรุงข้อตกลงส่งแรงงานไทยไปทำงาน เช่น เพิ่มจำนวนจาก 7,000 เป็น 15,000 คนต่อปี หรือเพิ่มเพดานอายุของแรงงานที่อนุญาตให้เข้าไปทำงานจาก 39 เป็น 45 ปี ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ (Don Tarajaroensuk) ชาวไทยที่ไปเรียนต่อในประเทศเกาหลีใต้และมีโอกาสทำวิจัยวิถีชีวิตของบรรดาผีน้อยเพื่อนร่วมชาติ เล่าว่า ด้วยความที่ชาวเกาหลีใต้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจทำงานในฐานะผู้ใช้แรงงาน จึงเป็นโอกาสของแรงงานจากต่างประเทศ ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียกลาง
ตัวอย่างงานที่ใช้แรงงานต่างด้าวเข้มข้นในเกาหลีใต้ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแรงงานในภาคเกษตร นายจ้างชาวเกาหลีใต้ต้องการแรงงานจำนวนมาก ดนย์ ระบุว่า นายจ้างหลายรายไม่สนใจด้วยซ้ำไปว่าลูกจ้างของตนจะมีสถานะวีซ่าอย่างไร อีกทั้งแรงงานเหล่านี้ยังช่วยให้ธุรกิจในท้องถิ่น อาทิ ร้านขายของชำ ร้านตัดผม ร้านอาหาร ไปจนถึงธนาคารสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
ขณะเดียวกันแรงงานไทยที่มีประสบการณ์ชีวิตในเกาหลีใต้สูงหลายคนก็ผันตัวไปเป็นนายหน้า แต่พวกเขามองว่าเป็นการช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ ไม่ใช่การแสวงหาประโยชน์ มีชุมชนชาวไทยในเกาหลีใต้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง การจัดหารถรับ-ส่ง รวมถึงการหางานใหม่ โดยพวกเขามักนัดพบกันที่ร้านอาหารไทยหรือไม่ก็สื่อสารผ่านเฟซบุ๊ค