ระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System : EPS ) มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองโอกาสในการทำงานของคนเกาหลี แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยอนุญาตนายจ้างที่ไม่สามารถว่าจ้างแรงงานในประเทศ ให้สามารถว่าจ้างแรงงานต่างด้าวในจำนวนที่เหมาะสมอย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติ ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างชาติ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2546 และเริ่มนำมาใช้ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เพื่อจัดระบบการว่าจ้างแรงงานต่างชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้คัดเลือกประเทศผู้ส่งแรงงานและกำหนดโควต้าของแรงงานต่างชาติแต่ละปี รวมทั้งกำหนดเพดานการจัดส่งแรงงานต่างชาติแต่ละประเทศ
ภายใต้ระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติจำกัดให้ว่าจ้างแรงงานต่างชาติได้ใน 5 ภาค ได้แก่ (1) ภาคการผลิต (2) ภาคก่อสร้าง (3) ภาคเกษตรและการผสมพันธุ์สัตว์ (4) ภาคประมง (5)ภาคบริการ (คลังห้องเย็น ร้านอาหาร การกำจัดของเสีย บริการซ่อมรถยนต์ทั่วไป พยาบาล บริการในครัวเรือน ฯลฯ) แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายมาตรฐานแรงงาน กฎหมายความปลอดภัยและสุขอนามัยในอุตสาหกรรมฯลฯ เช่นเดียวกับแรงงานในประเทศ ยกเว้น แรงงานผู้ให้บริการในครัวเรือนจะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ผู้ว่าจ้างสามารถตัดสินใจกำหนดเงื่อนไขต่างๆได้แก่ เวลาทำงาน การเลิกจ้างงาน วันลา วันหยุด ภายในขอบเขตของกฎระเบียบปฏิบัติของกฎหมายแพ่ง นอกจากนั้น บทบัญญัติของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องบางข้อหรือบางมาตราจะไม่มีผลบังคับใช้กับแรงงาน ต่างชาติในอุตสาหกรรมเกษตร ป่าไม้ และประมง
ตัวอย่างเช่น แรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมเกษตร การผสมพันธุ์สัตว์ และประมง จะไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติ “กฎระเบียบสำหรับค่าแรงเพิ่มเติม” (งานที่ทำเพิ่มนอกเวลาและงานที่ทำในวันหยุด) ของกฎหมายมาตรฐานแรงงาน